650722pdpa 07 2

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมส่งงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ภายใต้ธีม “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”                                                                                                                   

          สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ร่วมนำเสนอผลงานของสถาบันฯ ภายใต้ธีม “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยแบ่งได้การนำเสนอเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ภาคนิทรรศการ ลักษณะคูหามาตรฐาน มีผลงานนำเสนอ จำนวน 4 เรื่อง และ 2. ภาคการประชุม นำเสนอผลงาน จำนวน 6 เรื่อง ภายใต้หัวข้อ NIDA’s Impact and Wisdom for Sustainable Development 

          NIDA’s Impact and Wisdom for Sustainable Development เป็นการนำเสนอการวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรมเป็นส่วนที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ ที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายที่เป็นระบบ รวมทั้งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี โดยผลการศึกษาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านวิชาการและมีคุณค่าในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้แก่ภาครัฐเพื่อต่อยอดการวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรมและส่งผลกระทบเชิงบวกในระดับนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาสังคม และการส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างความมั่นคง และการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความสามารถในการปรับสมดุลเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นระบบและเหมาะสม

          สำหรับภาคนิทรรศการของ ‘นิด้า’ ที่ได้จัดแสดงภายในงาน ประกอบไปด้วย 4 นิทรรศการ ดังนี้

          1. การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจต่อแรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ท้องถิ่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย เอกมาไพศาล

          2. การศึกษาศักยภาพชุมชนด้านสมาร์ทเทคโนโลยีการท่องเที่ยวเพื่อประเมินและพัฒนาศักยภาพชุมชนด้านดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายในท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล 4.0 ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พัทรียา หลักเพ็ชร

          3. กลยุทธ์การพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ: กรณีศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยเพื่อสุขภาพ โดย นางสาวนันท์ภัสกร ฤทธิ์พนิชชัชวาล และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวารี นามวงค์ 

          4. กลยุทธ์การพัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ: กรณีศึกษา การพัฒนาอัตลักษณ์ของจุดหมายปลายทางอาหารละเมียดนิยม โดย นางสาวพิชญ์สินี ซุ่นทรัพย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวารี นามวงค์

          นอกจากนี้ในภาคการประชุม ‘นิด้า’ ได้มีการอภิปรายผลงานวิจัย ภายใต้หัวข้อเรื่อง “NIDA’s Impact and Wisdom for Sustainable Development” จำนวน 6 เรื่อง ดังนี้

          1. การประยุกต์ใช้โครงข่ายประสาทเทียมเพื่อประเมินผลกระทบจากเงื่อนไขทางอุตุนิยมวิทยาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นขององค์ประกอบคาร์บอนและสารไอออนที่ละลายในน้ำในฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดย ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร 

          2. การออกแบบกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิในอากาศสะอาด โดย ผศ.ดร. กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล คณะนิติศาสตร์

          3. บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทศวรรษหน้า  โดย ผศ.ดร. พัชรวรรณ นุชประยูร คณะนิติศาสตร์

          4. การศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการดำเนินการของวัด โดย รศ.ดร. อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล คณะบริหารธุรกิจ 

          5. เรื่อง การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจต่อแรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ท้องถิ่นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดย รศ.ดร. เจริญชัย เอกมาไพศาล คณะการจัดการการท่องเที่ยว 

          6. โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนากลไกการขยายผลศาสตร์ของพระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่แบบบูรณาการและการทดลองเชิงปฏิบัติการ ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ (นำเสนอเป็นกลุ่ม) ดังนี้

          6.1 เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่: นวัตกรรมทางเลือกลดหนี้เกษตรกรรายย่อยอย่างยั่งยืน โดย ดร. อัจฉรา โยมสินธุ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง 

          6.2 เรื่อง กรณีศึกษา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)โดย ผศ.ดร. ฆริกา คันธา คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม

          6.3 เรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่: ถอดแบบความสำเร็จของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) โดย ผศ.ดร. จุฬาภรณ์ ขอบใจกลาง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง 

          6.4 เรื่อง การถอดบทเรียนเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนากลไกการขยายผล ศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่แบบบูรณาการ โดย ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ