ติดตาม :        เลือกภาษา THEN 



“นิด้า - พอช. - เครือข่ายองค์กรชุมชน” ร่วมลงนามความร่วมมือ เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

          วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสิริวัฒนภักดี ชั้น 11 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยพื้นที่เป็นตัวตั้ง” ระหว่าง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายองค์กรชุมชน 

 

          โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนทั้ง 3 ฝ่ายในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวเจตนารมณ์ในด้าน “นิด้ากับการสนับสนุนงานวิชาการเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวเจตนารมณ์ในด้าน “พอช. กับความร่วมมือภาคีในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” และนายจินดา บุญจันทร์ ผู้แทนคณะประสานงานองค์กรชุมชน กล่าวเจตนารมณ์ “องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ร่วมขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง”

 

          สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการตอบสนองทิศทางของการพัฒนาและเกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย โดยมุ่งดำเนินการไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและสังคมฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติ ร่วมผลักดันข้อเสนอจากการปฏิบัติจริงของพื้นที่สู่สาธารณะ และส่งเสริมให้การทำงานด้านการพัฒนาชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ การเรียนการสอน การฝึกอบรม การศึกษาวิจัย และการบริการวิชาการสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง และเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

          ทั้งนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มุ่งสร้างผู้นำที่มีปัญญาคู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาประเทศ สร้างองค์ความรู้ ศึกษาวิจัย ด้านการบริหารการพัฒนา สร้างงานบริการวิชาการที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ สร้างเสริมค่านิยมและจิตสำนึกมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ บนพื้นฐานความเข้มแข็งของศิลปวัฒนธรรมไทย และเผยแพร่องค์ความรู้ในศาสตร์ด้านการบริหารการพัฒนาสู่สาธารณะ ภายใต้ปรัชญา “สร้างปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Wisdom for Sustainable Development)” 

 

#NIDAThailand #WISDOMforSustainableDevelopment #สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้แทนจาก Universitas Airlangga (UNAIR) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เยือนสถาบัน

          เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ส่วนวิเทศสัมพันธ์ ได้นำคณะผู้แทนจาก Universitas Airlangga (UNAIR) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้แก่ 1) Professor Dr. Budri Munir Sukoco - Director of Postgraduate School of Universitas Airlangga 2) Accociate Professor Dr. Suparto Wijoyo - Vice Director of Postgraduate School of Universitas Airlangga และ 3) Dr. Zamal Nasution - Chairperson of Thai Culture Research Center (TCRC) ที่ได้เดินทางเยือนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพื่อหารือกับผู้บริหารจาก คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร วิทยาลัยนานาชาติ และส่วนวิเทศสัมพันธ์ เกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน 

 

          ในการนี้ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จเร สิงหโกวินท์ คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.นรีนุช ดำรงชัย รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาแว มะแส อาจารย์ประจำคณะ วิทยาลัยนานาชาติ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาวีวรรณ ปัญญาโกเมศ รองคณบดีฝ่ายบริหาร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริษา เลากุลรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ส่วนวิเทศสัมพันธ์ นำโดย คุณนิภา ชุมสุข รักษาการแทนผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ และ คุณพัชรา ชัยวัฒนากุลกิจ นักวิเทศสัมพันธ์ ให้การต้อนรับและร่วมหารือความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึง คณะผู้แทนจาก UNAIR ได้จัดการบรรยายให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติในหัวข้อ Economic Complexity Transformation in ASEAN.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

NIDA ร่วมกับสมาคมนักศึกษาเก่า สพบ. จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

          วันนี้ ( 9 ธันวาคม 2565) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม โดยมีนายดุสิต  ปิยะทัต นายกสมาคมนักศึกษาเก่าฯ กล่าววัตถุประสงค์การจัดงาน ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเปิดงาน และมีน้องๆ นักเรียนโรงเรียนวัฒนานนท์วิทยาเชิญชวนร้องเพลงราชพฤกษ์ของแผ่นดินร่วมกัน กิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่ บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่าในการบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดและทาสีรั้วสถาบันเป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

NIDA มอบสิ่งของที่ได้รับบริจาคในโครงการมอบสิ่งของเหลือใช้ให้ชุมชนบางเตยล่าง

          เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 นิด้าได้มอบสิ่งของที่ได้รับบริจาคในโครงการมอบสิ่งของเหลือใช้ให้ชุมชน ครั้งที่ 1 เช่น เสื้อผ้า หนังสือ ของเล่น ตุ๊กตา ฯลฯ ให้กับชุมชนบางเตยล่าง ซอยอุเทน 31 ซอยนวมินทร์ 24 เขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นชุมชนแออัด มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 20 คน มีเด็กในชุมชนประมาณ 40 คน  โดยมี ผศ.ดร.แตงอ่อน มั่นใจตนและเจ้าหน้าที่ส่วนสื่อสารองค์การเป็นตัวแทนในการมอบให้กับชุมชน ในครั้งนี้ ผศ.ดร.แตงอ่อน ได้สอนวิธีการใช้เครื่องออกกำลังกายและเครื่องมือในการนวดให้กับชุมชนด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

Gateway to Health, Aging, and Retirement Data in Thailand

          ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดงาน Gateway to Health, Aging, and Retirement Data in Thailand ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เมื่อวันที่ 24 และ 25 พฤศจิกายน 2565 ให้กับผู้ที่สนใจโครงการโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย หรือ “Health, Aging, and Retirement in Thailand; HART” โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มาเป็นประธานในพิธีเปิด ในงานได้มีการนำเสนอที่มาของโครงการ และเปิดตัวเว็บไซต์ HART เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาและขอข้อมูลการสำรวจของโครงการ รวมทั้งยังให้ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล HART อาทิ การนำเสนอข้อมูลผ่าน data visualization ในรูปแบบ dashboard โดยใช้ Power BI และการวิเคราะห์ข้อมูลแพเนล (Panel Analysis) โดยใช้ข้อมูล HART สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลของโครงการสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ https://hart.nida.ac.th/

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หารือออนไลน์ระหว่างสถาบันและ French National Research Institute for Sustainable Development

          วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อารี มโนสุทธิกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คุณนิภา ชุมสุข รักษาการแทนผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ และ คุณสุพิชญ์ชา คนชม นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์โปรแกรม Zoom กับ Dr. Xavier Mari และ ทีมงานจาก French National Research Institute for Sustainable Development สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีเนื้อหาการหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันในด้านต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การจัดฝึกอบรม รวมถึงการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน

ประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการกับ United States Agency for International Development

          วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารี มโนสุทธิกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ และเจ้าหน้าที่ส่วนวิเทศสัมพันธ์ เข้าร่วมการประชุมกับ Dr. Bryce Smedley, Education Team Lead จาก the United States Agency for International Development (USAID) สหรัฐอเมริกา สำนักงานประเทศไทย โดยมีเนื้อหาการหารือเกี่ยวกับโอกาสการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันกับ USAID เช่น ความเข้าใจที่ดีขึ้นในหลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติ และโครงการความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ ซึ่งสถาบัน และ USAID จะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะมีความร่วมมือระหว่างกันต่อไป 

 

 

คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า ได้ไปร่วมปลูกป่าชายเลนและศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนโดยชุมชน

          วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2565 นักศึกษาและคณาจารย์ของคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า ได้ไปร่วมปลูกป่าชายเลนและศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนโดยชุมชน ที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทั้งความรู้ประสบการณ์และความประทับใจในความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 

นิด้า คว้ารางวัลส่งท้ายปีอีก 1 รางวัลจากกรมการท่องเที่ยว การันตีคุณภาพงานบริการวิชาการสู่ชุมชน

          จากการยกระดับผลงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ U2T ปีที่ 1 และ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG  หรือ U2T for BCG ปีที่ 2 โครงการดีๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ช่วยสร้างรากแก้วให้กับประเทศ จากการนำโจทย์หรือปัญหาของท้องถิ่น สู่การพัฒนาศักยภาพคน องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนท้องถิ่นให้ยั่งยืน

 

          นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับ ชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ตำบลเขื่องคำ จังหวัดยโสธร เมื่อกลางปี 2565 ทีม U2T ริมท่าเยี่ยม เข้ารอบ U2T Hackathon ระดับภูมิภาค และได้เป็นตัวแทนตำบลในจังหวัดยโสธร ไปแข่งขันต่อที่จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการชู “ปลาส้ม Bite และปลาส้มคั่วสมุนไพร “ ผลิตภัณฑ์แปรปลาส้ม อาหารพื้นถิ่นยอดนิยม  และส่งท้ายปีกับการเข้าร่วม การประกวด เส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์ 2023 “DOT Connect to Healthy Route 2023” จัดโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยใช้ชื่อทีม “ริมท่าเยี่ยม” จนกระทั่งได้รับรางวัลสุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์ 2023 จาก เส้นทาง “เที่ยวสนุก สุขภาพดี ในวิถีชุมชนยโสธร” ในที่สุด

 

          ชุมชนบ้านท่าเยี่ยมเป็นชุมชนเล็กๆ ในตัวเมืองยโสธร ทีมีการรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่ออนุรักษ์วิถีชุมชน  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์  ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกและเยาวชน และจดทะเบียนในนาม “วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าเยี่ยม” โดยผสมผสานแนวคิด ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีชุมชน ด้วยการนำประเพณี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน มาออกแบบเพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ทำให้ชุมชนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ตลอดทั้งปี นิด้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนี้ให้ชุมชนเติบโตและสร้างรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวสถาบัน


  • 1

 

ข่าวการศึกษาและหลักสูตรระยะสั้น


  • 1

 

ข่าวการสัมมนาและอบรม


  • 1

 

ข่าวกิจกรรมและบริการ


  • 1

 

ภาพข่าวกิจกรรม ปี 2566


  • 1

ภาพข่าวกิจกรรม ย้อนหลัง