ติดตาม :        เลือกภาษา THEN 



ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ


          ที่ประชุมสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการประชุมสภาสถาบัน ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ดังนี้

 

ปรัชญา


“สร้างปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“WISDOM for Sustainable Development”

 

ปณิธาน


                สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ถือกำเนิดจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) สถาบันจึงน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานแก่บัณฑิตทั้งหลายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกของสถาบัน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2513 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจ โดยนำความรู้และคุณธรรม มาสร้างปัญญา สร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับให้เป็นสถาบันการศึกษาของประเทศ ที่มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ข้อความตามพระบรมราโชวาท ซึ่งสถาบันน้อมนำมาใช้เป็นปณิธานของสถาบัน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ...ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง และสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไป ด้วยความขยันหมั่นเพียรและด้วยความสุจริต เที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและต่อประชาชน...



วิสัยทัศน์


          “เป็นสถาบันสรรค์สร้างปัญญาของสังคม และสร้างผู้นำ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับสากล” จากวิสัยทัศน์ของสถาบันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง 3 ประการ คือ

  1. สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
  3. สร้างคุณประโยชน์ให้ชุมชนและสังคม

 



พันธกิจ


เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ของสถาบัน จึงกำหนดพันธกิจที่ต้องดำเนินการไว้ ดังต่อไปนี้

  1. สร้างผู้นำที่มีปัญญาคู่คุณธรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
  2. สร้างองค์ความรู้ ศึกษาวิจัย ด้านการบริหารการพัฒนา
  3. สร้างงานบริการวิชาการที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ
  4. สร้างเสริมค่านิยมและจิตสำนึกมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ บนพื้นฐานความเข้มแข็งของศิลปวัฒนธรรมไทย
  5. สร้างเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้คุณค่ากับการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของบุคลากร
  6. สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบัน และเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์


  1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สนับสนุนการทำวิจัย การต่อยอดสู่นวัตกรรม และการบริการวิชาการ ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสถาบันและประเทศชาติ
  2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พัฒนาหลักสูตรปริญญาบัตร (Degree Programs) ที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Project-based Learning) และการวิเคราะห์ข้อมูลและสารสนเทศอย่างเป็นระบบ (Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ และการบริหาร
  3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) บนพื้นที่การเรียนรู้ และผ่านช่องทางที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ขับเคลื่อนการพลิกโฉมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี และการบริหารจัดการแบบเปิด (Open Governance)
  5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ (Internationalization)
  6. ยุทธศาสตร์ที่ 6 : สร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสถาบัน (Stakeholders’ Participation and Engagement) รวมทั้งการระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาสถาบันและสังคม

 

สมรรถนะหลักของสถาบัน (Core Competencies)

“มีความเป็นเลิศในศาสตร์ด้านการบริหารการพัฒนาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาองค์การ ชุมชน สังคม ระดับประเทศ และระดับสากล”



 

อำนาจและหน้าที่

       "สถาบันซึ่งจัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นความสำคัญของการจัดให้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูง ทางด้านการบริหารเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เป็นสถานศึกษาชั้นสูงระดับบัณฑิตศึกษา มีวัตถุประสงค์และพันธกิจในการให้การศึกษาและอบรม สร้าง พัฒนา ประมวล ประยุกต์ และเผยแพร่องค์ความรู้ ทำการวิจัย และให้บริการทางวิชาการด้านพัฒนบริหารศาสตร์และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก ทำนุบำรุงและส่งเสริมคุณธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   สถาบันมีปณิธานในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและ ประเทศชาติ ตลอดจนมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยนำความรู้และคุณธรรมมาสร้างปัญญาสร้างจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล"

 ...พระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่